ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 1642 การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
|
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2539 ส. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับก. ส. มีภริยาคือโจทก์ที่1และมีบุตร3คนคือร. โจทก์ที่2และที่3หลังจากส. ถึงแก่ความตายแล้วร. ทำหนังสือสละมรดกของส. ต่อมาก. เสียชีวิตโจทก์ที่1เป็นเพียงภริยาของส.มิใช่ผู้สืบสันดานของส. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ส.เพราะการรับมรดกแทนที่กันจะมีได้เฉพาะผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่บิดามารดาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1639และ1642ส่วนร. แม้จะสละมรดกของส. แล้วแต่ก็ไม่ปรากฏว่าร. สละสิทธิในการรับมรดกของก. อันเป็นการรับมรดกแทนที่ส. แต่อย่างใดร.โจทก์ที่2และที่3จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ส. ในการสืบมรดกของก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1645คนละหนึ่งในสาม โจทก์ทั้งสามมีชื่อโฉนดที่ดินพิพาทโดยรับมรดกเฉพาะส่วนของส. อยู่แล้วเป็นเพียงแต่ยังไม่มีชื่อโจทก์ที่2และที่3ในส่วนที่เป็นมรดกของก. เท่านั้นแต่ก็มีชื่อจำเลยที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกของก. เท่ากับว่าโจทก์ที่2และที่3ชนะคดีบางส่วนจำเลยทั้งห้าจึงไม่สมควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2492 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีความว่า เมื่อตนถึงแก่ความตายแล้วขอยกทรัพย์สมบัติให้แก่ ร. และส. โดยให้คนละครึ่งเท่าๆ กันผู้อื่นจะเรียกร้องขอแบ่งปันทรัพย์ของตนไม่ได้ ปรากฏว่า ร. ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกให้ ร. จึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 ประกอบกับมาตรา 1620 วรรคสอง คือเมื่อเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรม ก็ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก การรับมรดกแทนที่มาตรา 1642 ให้ใช้แต่เฉพาะในระหว่างทายาทโดยธรรม ไม่รวมถึงผู้รับพินัยกรรม
|